นโยบายเร่งด่วน
1. การสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น แก่ภาคเอกชนและประชาชนในการลงทุนและการบริโภค เช่น การเสริมสร้างความสมานฉันท์ และความสามัคคีของคนในชาติ, การตั้งสำนักงานบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นองค์กรถาวร, ปฏิรูปการเมือง, สร้างความเชื่อมั่นของประเทศในสายตาชาวโลก, ฟื้นฟูวิกฤตเศรษฐกิจ, สร้างความเชื่อมั่นและเร่งรัดมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว, เร่งลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ
2. การรักษาและเพิ่มรายได้ของประชาชน การร่วมมือกับภาคเอกชนดำเนินมาตรการชะลอการเลิกจ้าง, ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้าเพื่อรองรับการว่างงาน, เร่งรัดช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้าง, สร้างหลักประกันรายได้แก่ผู้สูงอายุ เพิ่มมาตรการด้านการคลัง, สร้างรายได้และศักยภาพทางเศรษฐกิจในระดับรากฐาน เป็นต้น
3. นโยบายความมั่นคงของรัฐ เช่น การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว, การเสริมสร้างสันติภาพการอยู่ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน, นโยบายด้านสังคมและคุณภาพชีวิต เช่น นโยบายด้านการศึกษา, ด้านแรงงาน, ด้านสาธารณสุข, ด้านศาสนาศิลปวัฒนธรรม, สวัสดิการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ด้านกีฬาและนันทนาการ
4. นโยบายด้านเศรษฐกิจ เช่น การบริหารเศรษฐกิจมหภาค โดยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินในประเทศ พัฒนาตลาดทุนและสถาบันการเงินให้เข้มแข็ง ส่งเสริมและรักษาวินัยการคลัง ปรับปรุงโครงสร้างภาษีและการจัดเก็บภาษี กำหนดกรอบการลงทุนภาครัฐให้มีความชัดเจน และปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ
นโยบายการบริหารราชการ 3 ปี
5. นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การคุ้มครองและอนุรักษ์ป่าไม้ และสัตว์ป่า ทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรธรณี ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงการจัดระบบป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยธรรมชาติ การควบคุมปริมาณของเสีย การพัฒนาองค์ความรู้ในการบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6. นโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม ส่งเสริมและสนับสนุนโครงการวิจัยตามแนวพระราชดำริ การเร่งรัดผลิตบุคลากร และจัดให้มีกองทุนวิจัยร่วมภาครัฐและเอกชน
7. นโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ได้แก่ การพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน การสร้างความแข็งแกร่งของอาเซียนในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ส่งเสริมความร่วมมือกับกลุ่มประเทศมุสลิม
8. นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน โดยดูแลเรื่องค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่รัฐให้มีความเหมาะสม การบริหารงานที่โปร่งใส การกระจายอำนาจ เรื่องกฎหมายและการยุติธรรม จะปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยเพื่อป้องกันปัญหาการคอรัปชั่น ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและปรับปรุงกลไกสื่อภาครัฐให้มีบทบาทเพื่อประโยชน์สาธารณะ